top of page
Search

ธุรกิจไปรอด เพราะเคยถูกจับโยนลงน้ำ

วลียอดฮิตของเจ้าของธุรกิจทั้งหลายกับนัยยะที่แฝงไว้ให้ต้อง "เอาตัวรอด"

หากคุณเป็นคนชอบอ่านบทสัมภาษณ์ผู้ประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ

อาจเคยคุ้นหูกับวลี "ถูกจับโยนลงน้ำ" ซึ่งมักสอดแทรกอยู่ในหลายๆ บทสัมภาษณ์

เมื่อดำเนินไปถึงประเด็นที่ถูกเอ่ยถามถึงช่วงเริ่มต้นในการขับเคลื่อนธุรกิจ จนถึงวันที่ธุรกิจไปได้สวย โดยที่มากผู้มากนามชอบหยิบยกวลีที่ว่า "ถูกจับโยนลงน้ำ" มาเป็นข้อเปรียบเปรย

การถูกจับโยนลงน้ำ นั่นหมายความว่า "คุณต้องเอาตัวให้รอด" ไม่เช่นนั้นคุณจะจมน้ำตาย แน่นอนว่า "การเอาตัวรอด" คือคีย์เวิร์ดที่ซ่อนอยู่ สำหรับค่าเริ่มต้นในการทำกิจการใดๆ ก็ตาม

ในการถูกจับโยนลงน้ำแบบนี้ หนทางรอด ก็มีอยู่ 2-3 ทางรอดใหญ่ๆ คือ รอดเพราะพยายามดิ้นรนจนในที่สุดก็ว่ายน้ำเป็นเอง, รอดเพราะรู้จักฉกฉวยเครื่องไม้เครื่องมือรอบข้างมาประคับประคองชีวิต ทั้งๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็น กับ รอดเพราะมีคนว่ายน้ำเป็นมาช่วยเหลือ

เมื่อมองผ่านมุมของการทำธุรกิจ รูปแบบทางรอดที่กล่าวข้างต้น ธุรกิจก็เหมือนชีวิตที่ต้องดิ้นรนให้รอด โดยเทียบได้กับวิถีในการดำเนินธุรกิจของแต่ละคน ซึ่งที่น่ายกย่องและภูมิใจที่สุด คงเห็นจะหนีไม่พ้นแบบแรก คือ การต่อสู้ดิ้นรนทุกหนทางจนในที่สุดก็ว่ายน้ำเป็น และสามารถใช้กำลังความสามารถของตัวเองจ้วงสายน้ำจนมาถึงฝั่ง

ผู้ประกอบการประเภทนี้จะมีเป้าหมายชัดเจน มีใจที่เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น กอปรกับมีลูกขยันในการศึกษาค้นคว้าความรู้ต่างๆ จากที่ไม่เคยเรียนรู้การทำธุรกิจมาก่อน ก็จะทำให้รู้ซึ้งแตกฉานจนสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างสง่างามได้

ประเภทต่อมา คือ รอดเหมือนกัน แต่รอดเพราะฉกฉวยเครื่องไม้เครื่องมือรอบข้างมาช่วยพยุงไว้ นึกถึงภาพคนว่ายน้ำไม่เป็น ต้องใช้ห่วงยาง หรือโฟมว่ายน้ำ มาช่วยให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ แม้ว่าอาจจะเข้าไปถึงฝั่งได้เร็ว แต่ยามใดที่โฟมเกิดลอยหาย หรือห่วงยางรั่วซึม ก็คงจะยากต่อการเอาตัวรอด เปรียบเทียบได้กับ การทำธุรกิจด้วยมือกล อย่าง "เงิน" หรือ "เทคโนโลยี" หากทุนหนา ก็อาจจะใช้เงินตัดสินปัญหา คว่านซื้อทุกอย่างมาอุดรอยรั่วธุรกิจ แทนการแก้ไขด้วยมันสมอง หรือไม่ก็ใช้สมองกล หรือ อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยขับเคลื่อน ซึ่งถ้าหากว่าในระยะนี้ คุณใช้เครื่องมือโดยไม่ฝึกว่ายน้ำไปเองด้วย

สิ่งที่คุณจะได้รับคือ การหยุดนิ่งอยู่กับที่ และคงไม่อาจมีสัญญาณแห่งความยั่งยืนทางธุรกิจคืบคลานเข้ามาหาได้เลย

ประเภทสุดท้าย คือ รอดเพราะมีคนที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วยไว้ ซึ่งในมุมมองธุรกิจกำลังบอกคุณว่า คุณไม่อาจเกาะผู้อื่นลอยคอตลอดไปได้ ไม่อย่างนั้น อาจพากันจมน้ำไปได้ทั้งคู่ ถ้าหากคู่หูของคุณเป็นกัลยาณมิตร เขาต้องสอนคุณให้ว่ายน้ำเป็นในไม่ช้า

DamrongBlog1

ไม่เพียงแค่นั้น เรายังมองว่า การอยู่รอดด้วยวิธีการนี้ คงไม่ต่างกับเทคนิคที่เจ้าคนนายคนใช้กับบุคลากรในองค์กร คือ Put the right man in

the right job. คือใช้กำลังสติปัญญาของทีมงานที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับงาน จึงจะพากันขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้ว่าตัวหัวเรือใหญ่เองจะไม่มีความรู้ความสามารถ หรือความถนัดในด้านนั้นเลยก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เสี่ยงที่คนว่ายน้ำเป็น อาจจะมองคุณว่าเป็นตัวถ่วง แล้วทิ้งคุณไว้เผชิญชะตากรรมอันโหดร้าย เมื่อเขาเห็นลู่ทางไปที่ดีกว่า มันจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของผู้ประกอบการตัวจริงที่จะยึดวิธีการนี้มาหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ตลอดไป

ดังนั้นมันจึงมีอีกคีย์เวิร์ดเกิดขึ้น

หลังจากที่เมื่อเอาตัวรอดแล้วจนลอยลำได้สักระยะแล้ว ก็ต้องมีการ "พัฒนา" ตัวเองอยู่เรื่อยๆ จากว่ายน้ำพอเป็น ก็ต้องว่ายให้แข็งขึ้น จากเคยใช้ห่วงยาง ก็ต้องลองว่ายเอง และจากเคยให้คนช่วยพยุงเข้าฝั่ง ก็ต้องลองเริ่มตีขาในน้ำเพื่อพยุงตัวเองให้ได้ การว่ายน้ำ ก็เหมือนการปั่นจักรยานหรือขับรถ ที่ถ้าเป็นแล้ว มันก็จะเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอด

แล้วต่อไป ไม่ว่าจะถูกจับโยนลงบ่อเป็นครั้งที่เท่าไหร่ คุณก็จะเอาตัวรอดได้เอง อย่างยืนนานด้วย

30 views0 comments
bottom of page